Zimmermann, Arthur (1864–1940)

นายอาร์ทูร์ ซิมเมอร์มันน์ (พ.ศ. ๒๔๐๗–๒๔๘๓)

 อาร์ทูร์ ซิมเมอร์มันน์ เป็นนักการทูตชาวเยอรมันเป็นเสนาบดีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของจักรวรรดิเยอรมัน (German Empire)* ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๑๖–๑๙๑๗ ชื่อของเขาเป็นที่รู้จักเนื่องจาก “โทรเลขซิมเมอร์มันน์” (Zimmermann Telegram) ซึ่งเป็นโทรเลขที่เขาส่งไปให้เอกอัครราชทูตเยอรมันประจำเม็กซิโกในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๑ (First World War)* เพื่อชักชวนให้เม็กซิโกสนับสนุนเยอรมนีในกรณีที่สหรัฐอเมริกาเข้าสู่สงครามและอยู่ในฝ่ายสัมพันธมิตร ซิมเมอร์มันน์เสนอว่าเยอรมนีจะให้ความช่วยเหลือทางด้านเศรษฐกิจการเงินแก่เม็กซิโกอย่างเต็มที่พร้อมทั้งสัญญาว่าจะช่วยโจมตีรัฐแอริโซนา (Arizona) เท็กซัส (Texas) และนิวเม็กซิโก (New Mexico) ของสหรัฐอเมริกาที่เคยเป็นของเม็กซิโกกลับคืนให้เป็นการตอบแทน โทรเลขฉบับนี้มีความสำคัญมากเพราะเป็นสาเหตุหนึ่งที่เร่งเร้าให้สหรัฐอเมริกาซึ่งรักษาความเป็นกลางมาตลอดเวลากว่า ๒ ปีครึ่งตัดสินใจเข้าสู่สงครามในเดือนเมษายน ค.ศ. ๑๙๑๗ ซึ่งมีผลให้ฝ่ายสัมพันธมิตรชนะสงครามโลกครั้งที่ ๑ในที่สุด

 ซิมเมอร์มันน์เกิดเมื่อวันที่ ๕ ตุลาคม ค.ศ. ๑๘๖๔ ในครอบครัวสามัญชนที่เมืองมาร์กกราโบวา (Marggrabowa) ในแคว้นอีสต์ปรัสเซีย (EastPrussia) ซึ่งขณะนั้นเป็นส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรปรัสเซีย [ปัจจุบันคือ เมืองโอเล็คโก (Olecko) ในแคว้นมาซูรี (Mazuri) ประเทศโปแลนด์] เขาศึกษาทั้งระดับประถมและมัธยมที่บ้านเกิด ใน ค.ศ. ๑๘๘๔ ขณะอายุ ๒๐ ปี ซิมเมอร์มันน์ได้เข้าศึกษาวิชากฎหมายที่มหาวิทยาลัยเมืองเคอนิกส์แบร์ก (Königsberg) และเมืองไลพ์ซิก (Leipzig) จนจบการศึกษาใน ค.ศ. ๑๘๘๗ หลังจากนั้นได้ฝึกงานเป็นนักกฎหมายอยู่ชั่วเวลาหนึ่ง และเข้าศึกษาต่อในวิชากฎหมายจนได้รับปริญญาเอก ใน ค.ศ. ๑๘๙๓ เขาเปลี่ยนอาชีพจากนักกฎหมายมาเป็นนักการทูตโดยเข้ารับราชการในแผนกกงสุล กระทรวงการต่างประเทศของจักรวรรดิเยอรมันณ กรุงเบอร์ลินอีก ๓ ปีต่อมา ซิมเมอร์มันน์ถูกส่งไปทำงานในประเทศจีน และไปประจำ ณ มณฑลกว่างตง (Guangdong) ตั้งแต่ ค.ศ. ๑๘๙๘ จนได้เลื่อนตำแหน่งเป็นกงสุลเยอรมันประจำประเทศจีนใน ค.ศ. ๑๙๐๐ ในช่วงที่ทำงานอยู่ในจีนนั้นซิมเมอร์มันน์ได้เห็นเหตุการณ์ที่เกิดจากความวุ่นวายทางการเมืองหลายครั้งโดยเฉพาะกบฏนักมวย (Boxers Rebellion) ที่เกิดขึ้นระหว่าง ค.ศ. ๑๘๙๙–๑๙๐๑ ทำให้เขามีความรู้ความเข้าใจในปัญหาการเมืองระหว่างประเทศมากขึ้น ต่อมาใน ค.ศ. ๑๙๐๒ ซิมเมอร์มันน์ได้ย้ายกลับมาประจำที่กระทรวงการต่างประเทศในกรุงเบอร์ลิน

 ใน ค.ศ. ๑๙๑๑ ซิมเมอร์มันน์ได้รับแต่งตั้งเป็นปลัดกระทรวงการต่างประเทศ และต่อมาใน ค.ศ. ๑๙๑๓ ก็ได้ทำงานภายใต้การบังคับบัญชาของกอตต์ลีบ ฟอน ยาโก (Gottlieb von Jagow) เสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศที่เพิ่งเข้ารับตำแหน่งในปีนั้นระหว่าง ค.ศ. ๑๙๑๓–๑๙๑๖ ซิมเมอร์มันน์ได้ปฏิบัติหน้าที่และรักษาการแทนยาโกหลายครั้ง เขาพยายามผลักดันตนเองทุกวิถีทางที่จะทำให้มีบทบาทสำคัญและก้าวหน้าในตำแหน่งราชการ ในกลาง ค.ศ. ๑๙๑๔ โอกาสก็เปิดให้เขาเมื่ออาร์ชดุ๊กฟรานซิส เฟอร์ดินานด์ (Francis Ferdinand)* มกุฎราชกุมารแห่งจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี (Austro-Hungarian Empire)* และพระชายาถูกลอบปลงพระชนม์โดยคนร้ายชาวเซอร์เบีย (Serbian) ที่เมืองซาราเยโว (Sarajevo) เมื่อวันที่ ๒๘ มิถุนายน ในครั้งนั้นซิมเมอร์มันน์ซึ่งรักษาการแทนยาโกที่ไปราชการต่างประเทศก็ได้ฉวยโอกาสสนับสนุนอย่างแข็งขันให้ไกเซอร์วิลเลียมที่ ๒ (William II)* และเทโอบัลด์ ฟอน เบทมันน์ ฮอลล์เวก (Theobald von Bethmann Hollweg)* อัครมหาเสนาบดีแห่งจักรวรรดิเยอรมันซึ่งเป็นพันธมิตรที่สำคัญที่สุดของออสเตรีย-ฮังการี ตัดสินใจให้ความช่วยเหลือแก่ออสเตรีย-ฮังการีอย่างเต็มที่ในการดำเนินนโยบายแข็งกร้าวต่อเซอร์เบียและพันธมิตรเพื่อจับตัวคนร้ายมาลงโทษ พร้อมทั้งดำเนินการระดมพลในกองทัพเยอรมันด้วย การตัดสินใจดังกล่าวซึ่งในภายหลังซิมเมอร์มันน์กล่าวย้ำว่าเป็นการตัดสินพระทัยของไกเซอร์เอง ได้ก่อให้เกิดความตึงเครียดนานาชาติและเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๑ ขึ้นในยุโรปเมื่อวันที่ ๒๘ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๑๔

 ในปลายปีเดียวกันซิมเมอร์มันน์ยังได้มีส่วนช่วยเหลือขบวนการปฏิวัติเพื่อการแยกตัวของไอร์แลนด์จากอังกฤษด้วย ในครั้งนั้นรอเจอร์ เคสเมนต์ (Roger Casement) นักปฏิวัติชาวไอริชได้เดินทางมาพบเขาเพื่อขอให้เยอรมนีช่วยเหลือทางด้านทหารและอาวุธซึ่งซิมเมอร์มันน์ก็รับว่าจะให้ความช่วยเหลือ โดยวางแผนว่าจะส่งทหารจำนวน ๒๕,๐๐๐ นายพร้อมทั้งปืนไรเฟิล ๗๕,๐๐๐ กระบอก ไปขึ้นบกทางด้านตะวันตกของไอร์แลนด์ แต่ฝ่ายเสนาธิการทหารไม่เห็นด้วย การส่งทหารและอาวุธให้แก่ขบวนการปฏิวัติไอริชจึงยังไม่เกิดขึ้นในช่วงนั้น อย่างไรก็ดี ในเดือนเมษายน ค.ศ. ๑๙๑๖ เคสเมนต์ได้เดินทางกลับไอร์แลนด์โดยเรือดำน้ำเยอรมันแต่ถูกจับเมื่อขึ้นฝั่งไอร์แลนด์ ต่อมาเขาก็ถูกประหารชีวิต ในขณะที่เรือเดินสมุทรเยอรมันติดธงนอร์เวย์ได้ขนส่งปืนไรเฟิลจำนวน ๒๐,๐๐๐ กระบอกไปขึ้นฝั่งทางตอนใต้ของไอร์แลนด์ แต่ไม่สามารถติดต่อกับพวกกบฏได้ เรือลำดังกล่าวจึงถูกจับทำให้แผนให้ความช่วยเหลือแก่พวกกบฏที่จะก่อการจลาจลในกรุงดับลิน (Dublin) ในวันอีสเตอร์ (Easter) ประสบความล้มเหลว

 ในระหว่างสงครามแม้ว่าซิมเมอร์มันน์ยังคงอยู่ใต้อำนาจของยาโก แต่เขาก็มีบทบาทสำคัญในหลาย ๆ เรื่องที่เกี่ยวกับการทำสงคราม อาทิ ใน ค.ศ. ๑๙๑๕ ซิมเมอร์มันน์เป็นผู้หนึ่งที่สนับสนุนให้เยอรมนีใช้แผนยุทธศาสตร์สงครามเรือดำน้ำโดยไม่มีขีดจำกัด (Unrestricted Submarine Warfare)* ตามแผนนี้เรือดำน้ำของเยอรมนีสามารถโจมตีเรือทุกชนิดทั้งของศัตรูและชาติที่เป็นกลางที่แล่นในน่านน้ำมหาสมุทรแอตแลนติกได้โดยไม่ต้องแจ้งเตือนล่วงหน้า ซึ่งจะทำให้เยอรมนีสามารถเผด็จศึกได้อย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ดี การใช้แผนยุทธศาสตร์ดังกล่าวก็ก่อให้เกิดผลเสียเป็นอย่างมากเพราะนอกจากทำให้เกิดความแตกแยกภายในกระทรวงการต่างประเทศและในกองทัพเยอรมันแล้วยังทำให้ชาติเป็นกลางที่เรือของตนถูกโจมตีโกรธแค้นเป็นอย่างมากโดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาที่วางตัวเป็นกลางมาแต่ต้นสงคราม เนื่องจากในวันที่ ๗ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๑๕ เรือเดินสมุทรลูซิแทเนีย (Lusitania) ของอังกฤษที่ออกจากท่านครนิวยอร์กไปยังประเทศอังกฤษถูกตอร์ปิโดของเรือดำน้ำเยอรมันยิงจมลงในมหาสมุทรแอตแลนติกใกล้ฝั่งทางใต้ของไอร์แลนด์ในน่านน้ำที่เป็นเขตประกาศสงคราม ทำให้ผู้โดยสารและลูกเรือกว่า ๑,๐๐๐ คนเสียชีวิต ในจำนวนนี้มีชาวอเมริกัน ๑๒๘ คน เยอรมนีอ้างว่าเรือลำดังกล่าวบรรทุกอาวุธสงคราม การจมของเรือลำนี้ทำให้ความรู้สึกต่อต้านเยอรมนีในหมู่มหาชนชาวอเมริกันแผ่วงกว้างออกไปอย่างรวดเร็ว และทำให้สหรัฐอเมริกาเกือบเข้าสู่สงครามประธานาธิบดีวูดโรว์ วิลสัน (Woodrow Wilson) แห่งสหรัฐอเมริกาได้ยื่นประท้วงการโจมตีครั้งนี้โดยทันที ทั้งยังเรียกร้องให้เยอรมนียุติการกระทำอันไร้มนุษยธรรมนี้ด้วย ซึ่งในที่สุดเยอรมนีก็ได้ทำความตกลงยุติการใช้แผนยุทธศาสตร์สงครามเรือดำน้ำโดยไม่มีขีดจำกัดในเดือนกันยายน ค.ศ. ๑๙๑๕ โดยสัญญาว่าจะใช้เรือดำน้ำโจมตีเฉพาะเรือที่ใช้ในการสงครามของอังกฤษและชาติที่ประกาศสงครามต่อฝ่ายมหาอำนาจกลาง (Central Powers)* เท่านั้น

 ในปลาย ค.ศ. ๑๙๑๖ ซิมเมอร์มันน์ยังได้สนับสนุนนโยบายของจอมพล เพาล์ ฟอน ฮินเดนบูร์ก (Paul von Hindenburg)* ผู้บัญชาการสูงสุดของกองทัพเยอรมันอย่างเต็มที่เมื่อฮินเดนบูร์กเสนอให้นำแผนยุทธศาสตร์ดังกล่าวมาใช้อีกครั้งพร้อม ๆ กับการโจมตีบนภาคพื้นดินอย่างเต็มที่เพื่อทำให้สงครามยุติลงโดยเร็วในทุกวิถีทางก่อนที่กองทัพเยอรมันจะอ่อนแอลงและหมดเสบียงอาหารและอาวุธยุทโธปกรณ์ต่าง ๆ แต่ยาโกไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอนี้อย่างมากเขาจึงประท้วงด้วยการลาออกทันที และในวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๑๖ ซิมเมอร์มันน์ก็ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งแทน เขาเป็นเสนาบดีว่าการกระทรวงการต่างประเทศคนแรกของจักรวรรดิเยอรมันที่ไม่ได้มาจากชนชั้นสูง

 หลังจากนั้นซิมเมอร์มันน์ก็มีอำนาจในด้านการต่างประเทศอย่างเต็มที่ เขาสนับสนุนนโยบายการทำสงครามของฮินเดนบูร์กในทุก ๆ เรื่อง โดยเฉพาะนโยบายสงครามเรือดำน้ำโดยไม่มีขีดจำกัดซึ่งที่ประชุมระดับสูงได้ลงมติในวันที่ ๙ มกราคม ค.ศ. ๑๙๑๗ ว่าจะเริ่มปฏิบัติการอีกครั้งในวันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๑๗ จึงเป็นที่แน่นอนว่าการใช้นโยบายนี้เท่ากับเป็นการละเมิดข้อตกลงที่เยอรมนีทำไว้กับสหรัฐอเมริกาใน ค.ศ. ๑๙๑๕ และจะทำให้สหรัฐอเมริกาต้องเข้าสู่สงครามอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ซิมเมอร์มันน์จึงฉวยโอกาสนี้เข้าไปมีบทบาททันที ในวันที่ ๑๖ มกราคม ค.ศ. ๑๙๑๗ เขาได้ส่งโทรเลขที่เป็นอักษรรหัสไปถึงไฮน์ริช ฟอน เอคคาดท์ (Heinrich von Eckardt) เอกอัครราชทูตเยอรมันประจำเม็กซิโกซึ่งเป็นมิตรที่ใกล้ชิดของเยอรมนีในอเมริกากลางและอเมริกาใต้ แต่โทรเลขนี้ถูกหน่วยข่าวกรองอังกฤษดักจับได้ในวันที่ ๑๙ มกราคมและนำไปถอดรหัสที่กรุงลอนดอนทันทีเอกสารดังกล่าวมีข้อความสำคัญที่เป็นคำสั่งให้เอกอัครราชทูต

 เยอรมันดำเนินการต่อเม็กซิโกดังนี้เยอรมนีกำหนดว่าจะใช้นโยบายสงครามเรือดำน้ำโดยไม่มีขีดจำกัดอีกครั้งหนึ่งในวันที่ ๑ กุมภาพันธ์และไม่ต้องการให้สหรัฐอเมริกาเข้าสู่สงคราม หากไม่สำเร็จต้องทำให้เม็กซิโกเป็นพันธมิตรกับเยอรมนี คือ เข้าสู่สงครามและสร้างสันติภาพกับเยอรมนี ในการนี้เยอรมนีจะให้ความช่วยเหลือทางการเงินอย่างเต็มที่และจะนำดินแดนเหล่านี้ คือ แอริโซนา เทกซัส และนิวเม็กซิโก ที่เม็กซิโกสูญเสียให้สหรัฐอเมริกากลับคืนมาให้เป็นการตอบแทน ข้อตกลงในรายละเอียดให้ท่านจัดการเอง แต่ท่านจะต้องติดต่อกับประธานาธิบดีเม็กซิโกอย่างเป็นความลับที่สุด และเสนอแนะเขาให้ชักชวนญี่ปุ่นเข้าสู่สงครามด้วย

 การที่ซิมเมอร์มันน์ออกคำสั่งเช่นนี้อาจเป็นเพราะเขาต้องการตัดกำลังไม่ให้สหรัฐอเมริกาเข้าไปช่วยยุโรปทำสงครามเร็วเกินไป หรืออย่างน้อยที่สุดส่งกำลังไปช่วยยุโรปล่าช้า อย่างไรก็ดี ในวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ รัฐบาลอังกฤษได้ส่งคำถอดรหัสโทรเลขฉบับนี้ไปถึง วอลเตอร์ ไฮนส์ เพจ (Walter Hines Page) เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำกรุงลอนดอน และอีก ๒ วันต่อมาประธานาธิบดีวิลสันก็ได้รับเอกสารดังกล่าวแต่ข้อความในโทรเลขยังคงถูกเก็บไว้เป็นความลับจนวันที่ ๑ มีนาคม จึงได้ถูกเผยแพร่สู่สาธารณชนทางสื่อสารมวลชน และถูกตีพิมพ์อย่างกว้างขวางในตอนแรกหนังสือพิมพ์บางฉบับในสหรัฐอเมริการวมทั้งผู้ที่นิยมเยอรมันบางพวกต่างพากันคิดว่าโทรเลขนี้เป็นของปลอมที่อังกฤษจัดทำขึ้นเพื่อเร่งเร้าให้สหรัฐอเมริกาเข้าสู่สงครามโดยเร็ว กระแสต่อต้านเยอรมนีในหมู่ชาวอเมริกันได้แพร่กระจายออกไปอย่างกว้างขวางและรุนแรง ยิ่งกว่านั้นเมื่อซิมเมอร์มันน์ได้ออกมาแถลงในสภาไรค์ชตาก (Reichstag) ของเยอรมนีเมื่อวันที่ ๒๙ มีนาคม เพื่อยืนยันว่าเขาเป็นผู้ส่งโทรเลขจริง กระแสการต่อต้านเยอรมนีในสหรัฐอเมริกาก็ยิ่งรุนแรงมากขึ้นจนเกือบจะไม่มีผู้ต่อต้านการเข้าสู่สงครามของสหรัฐอเมริกาเท่าใดนัก

 อย่างไรก็ดี ในวันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ หลังได้รับคำถอดรหัสโทรเลขซิมเมอร์มันน์แล้วประธานาธิบดีวิลสันได้ออกคำสั่งให้นายพลเพอร์ชิง (Pershing) ยุติการโจมตีเม็กซิโกตอนเหนือเพื่อช่วยรัฐบาลเม็กซิโกปราบการปฏิวัติของวานุสตีโอการ์รันซา (Vanustio Carranza) ทันทีทั้งยังให้การรับรองว่ารัฐบาลการ์รันซาเป็นรัฐบาลที่ชอบธรรมของเม็กซิโก ต่อมาในต้นเดือนเมษายนสหรัฐอเมริกายังได้ทำความตกลงกับรัฐบาลการ์รันซาฉบับหนึ่งเพื่อรับรองรัฐบาลนี้อย่างเป็นทางการและย้ำสัมพันธภาพระหว่างสหรัฐอเมริกากับเม็กซิโกให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ทั้งยังให้สัญญากับเม็กซิโกว่าสหรัฐอเมริกาจะยอมให้การ์รันซาดำเนินการปฏิรูปประเทศอย่างอิสระ ในขณะเดียวกันหลังจากได้รับอนุมัติจากสภาคองเกรสในวันที่ ๖ เมษายน ค.ศ. ๑๙๑๗ สหรัฐอเมริกาก็ประกาศสงครามต่อเยอรมนีทันทีโดยเป็นฝ่ายสัมพันธมิตร

 สำหรับซิมเมอร์มันน์นั้น ในเดือนมีนาคม ค.ศ. ๑๙๑๗ เมื่อสถานการณ์ในแนวรบด้านตะวันออกของฝ่ายสัมพันธมิตรเริ่มเลวร้ายลง โดยกองทัพรัสเซียของฝ่ายสัมพันธมิตรต้องล่าถอยอย่างต่อเนื่อง เขาก็ได้เข้าไปมีบทบาทสำคัญในการยื่นเงื่อนไขและข้อเสนอต่าง ๆ ให้รัสเซียปฏิบัติตาม ทั้งยังพยายามบีบบังคับให้รัสเซียคืนดินแดนที่ยึดไว้ได้ในระหว่างสงครามให้แก่เยอรมนีด้วยในกรณีที่มีการทำสัญญาสงบศึกต่อกันซิมเมอร์มันน์เป็นผู้อนุญาตและอำนวยความสะดวกให้วลาดีมีร์ เลนิน (Vladimir Lenin)* ผู้นำพรรคบอลเชวิค (Bolsheviks)* และกลุ่มสหายรวม ๑๙ คน ที่ลี้ภัยอยู่ในต่างประเทศเดินทางกลับสู่รัสเซียได้สำเร็จในต้นเดือนเมษายนปีเดียวกัน โดยจัดให้คนเหล่านี้โดยสารในขบวนตู้รถไฟปิดที่ใช้เส้นทางผ่านเยอรมนี สวีเดน และฟินแลนด์ โดยไม่ต้องแสดงหนังสือเดินทางและถูกซักถามที่พรมแดนแต่ประการใดทั้งยังไม่อนุญาตให้ผู้ใดเข้ามาใกล้ขบวนรถไฟที่จัดพิเศษนี้ด้วย การที่ซิมเมอร์มันน์ทำเช่นนี้เพราะเขาต้องการให้สถานการณ์ภายในรัสเซียเลวร้ายลงจนต้องถอนตัวออกจากสงคราม ซึ่งจะทำให้เยอรมนีเป็นฝ่ายได้ชัยชนะในที่สุดการช่วยเหลือของซิมเมอร์มันน์ครั้งนี้จึงมีส่วนทำให้การปฏิวัติเดือนตุลาคม (October Revolution)* ค.ศ. ๑๙๑๗ ประสบความสำเร็จ

 อย่างไรก็ดี ในวันที่ ๖ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๑๗ ซิมเมอร์มันน์ก็ได้ลาออกจากตำแหน่งเสนาบดีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของเยอรมนี เนื่องมาจากแรงกดดันทางการเมืองจากหลายฝ่ายและเพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อความล้มเหลวในกรณีโทรเลขซิมเมอร์มันน์อันอื้อฉาว หลังจากนั้นเขาไม่ได้ดำรงตำแหน่งราชการใด ๆ เลย อาร์ทูร์ ซิมเมอร์มันน์มีชีวิตต่อมาท่ามกลางความสับสนวุ่นวายและการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในเยอรมนีช่วงหลังสงครามและถึงแก่อนิจกรรมด้วยโรคนิวมอเนีย ที่กรุงเบอร์ลินเมื่อวันที่ ๖ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๔๐ ขณะอายุ ๗๖ ปี.



คำตั้ง
Zimmermann, Arthur
คำเทียบ
นายอาร์ทูร์ ซิมเมอร์มันน์
คำสำคัญ
- กบฏนักมวย
- การปฏิวัติเดือนตุลาคม
- ซิมเมอร์มันน์, อาร์ทูร์
- โทรเลขซิมเมอร์มันน์
- บอลเชวิค
- พรรคบอลเชวิค
- มหาอำนาจกลาง
- เลนิน, วลาดีมีร์
- สงครามเรือดำน้ำโดยไม่มีขีดจำกัด
- สงครามโลกครั้งที่ ๑
- สภาไรค์ชตาก
- สัญญาสงบศึก
- ออสเตรีย-ฮังการี
- ฮอลล์เวก, เทโอบัลด์ ฟอน เบทมันน์
- ฮินเดนบูร์ก, จอมพล เพาล์ ฟอน
- ฮินเดนบูร์ก, เพาล์ ฟอน
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
1864–1940
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
พ.ศ. ๒๔๐๗–๒๔๘๓
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
วิมลวรรณ ภัทโรดม
บรรณานุกรมคำตั้ง
แหล่งอ้างอิง
-